การบวช คือ อะไร



การบวช และอานิสงส์ของการบวช คือ อะไร
โดย พุทธทาส ภิกขุ



เมื่อมีปัญหาขึ้นมาว่า การบวช คืออะไร ? ดังนี้แล้ว ทางที่ดีที่สุดควรจะถือเอาใจความตัวพยัญชนะคำว่า “บวช” นั่นเอง คำว่า “บวช” เป็นภาษาไทย ซึ่งถอดรูปมาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา
คำว่า “ปพฺพชฺชา” นี้ มีรากศัพท์ คือ ป + วช : ป แปลว่า ทั่วหรือสิ้นเชิง
วช แปลว่า ไป หรือเว้น
คำว่า ป + วช จึงแปลว่า ไปโดยสิ้นเชิง หรือ เว้นโดยสิ้นเชิง
ที่ว่า “ไปโดยสิ้นเชิง” นั้นหมายถึง ไปจากความเป็นฆราวาส คือ จากการครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต คือ ผู้ไม่ครองเรือนโดยสิ้นเชิง โวหารที่สูงไปกว่านั้น ท่านเรียกว่า ไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า ละเสียจากวิสัยที่ชาวโลกเขามีกัน เป็นกันโดยสิ้นเชิง นั่นเอง
            คำว่า "ไปจากความเป็นฆราวาส" นี้หมายความว่า  ไปจากบ้านเรือน  ซึ่งหมายถึง
การสละความมีทรัพย์สมบัติ
การสละวงศ์ญาติทั้งหลาย
การเลิกละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส
เลิกละการกินอยู่อย่างฆราวาส
เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส
เลิกละอาการกิริยาวาจาอย่างฆราวาส
เลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาสสิ้นเชิง
ดังนี้  จึงจะเรียกว่า  ไปหมดจากความเป็นฆราวาส  โดยสิ้นเชิง  หรือไปจากโลกโดยสิ้นเชิง
ข้อที่ว่า “สละความมีทรัพย์สมบัติ” นั้น หมายถึง การยอมรับดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติ ไปมีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิต ตามแต่จะมีผู้ศรัทธาหรือตามแต่จะหาได้มาบริโภคด้วยสิทธิอันชอบธรรมของนักบวชอันจะได้กล่าวถึงข้างหน้า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่าโน้น เป็นของที่ฆราวาสผู้ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมในอันที่จะบริโภคสิ่งของอันเขาถวายด้วยศรัทธา จึงไม่มีความจำเป็นอันใดสำหรับบรรพชิตผู้ตั้งหน้าแสวงหาคุณอันสูงโดยแท้จริง


ข้อที่ว่า “สละวงศ์ญาติทั้งหลาย” นั้นหมายถึงไม่มีความอาลัยในหมู่ญาติอันเป็นเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องหรือสงเคราะห์กันอย่างชาวโลกเขาทำกัน บางคนยังต้องติดกับหมู่ญาติ เพราะเห็นแก่ปากท้อง ในเรื่องอาหารการกินและอื่น ๆ จนไม่มีโอกาสได้รับความเป็นอิสระโปร่งโล่งของบรรพชา
ในบาลีที่กล่าวถึงการบวช มีการย้ำถึงการสละวงศ์ญาติอยู่ทั่วๆ ไป และอยู่ในรูปพระพุทธภาษิตโดยตรง นักบวชบางประเภทในสมัยพุทธกาล สมาทานการไม่ไปเยี่ยมบ้านของตนจนตลอดชีวิตก็ยังมี แต่ในพุทธศาสนา เรามุ่งเอาแต่เพียงการสละความอาลัยในหมู่ญาติ ชนิดที่เป็นความรู้สึกของฆราวาสทั่วไปนั่นเอง
ข้อที่ว่า “เว้นการนุ่งห่มอย่างฆราวาส” นั้น ย่อม ๆ เห็นกันอยู่แล้วว่า หมายความถึงอะไร แต่ขอให้ถือเอาใจความสำคัญให้ได้ว่า ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มด้วยความมัวเมาในความงาม หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสของสิ่งที่ใช้นุ่งห่ม ซึ่งหมายความว่า แม้จะใช้จีวรอย่างบรรพชิตแล้ว แต่ถ้ามุ่งไปในทางสวยงาม หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสเป็นต้นแล้ว ก็ยังมีความหมายว่า ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างฆราวาส ทั้งที่กำลังห่มจีวรอยู่นั่นเอง
ข้อที่ว่า “เว้นจากการกินอยู่อย่างฆราวาส” นั้น มิได้หมายแต่เพียงว่า เว้นการฉันในเวลาวิกาลหรือเว้นอาหารบางชนิดที่พระเณรไม่ควรฉันเป็นต้น เพียงเท่านี้ก็หามิได้ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าพวกฆราวาสกินเพื่อความเอร็ดอร่อย กินเพื่อความสนุกสนานเฮฮา กินจุบกินจิบ พิถีพิถันตามวิสัยของฆราวาส ผู้เอาแต่การตามใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ผู้บวชแล้วจะต้องเว้นจากการกินอย่างฆราวาสนี้โดยเด็ดขาด จะฉันด้วยความรู้สึกเพียงแต่ว่า นี้เป็นอาหารที่ฉันเพียงเพื่อยังอัตตภาพนี้ให้เป็นไปได้ พอสะดวกสบาย พอเหมาะสมแก่การที่จะปฏิบัติธรรมวินัย อันเป็นไป เพื่อออกจากทุกข์โดยประการทั้งปวง
โดยสรุปแล้ว ฉันอยู่ด้วยการระลึกถึงพระพุทธภาษิตของพระพุทธองค์ ซึ่งเราถือว่าเป็นพระพุทธบิดา อันได้ตรัสไว้ว่า “พวกเธอ จงฉันบิณฑบาตสักว่าเหมือนกับน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน หรือเหมือนกับมารดาบิดาซึ่งหลงทางกลางทะเลทราย ต้องจำใจกินเนื้อบุตรของตน ที่ตายแล้วในกลางทะเลทราย   เพื่อประทังชีวิตของตนเองฉันนั้น”
กิริยาดังกล่าวนี้ คือ การเลิกละจากการกินอยู่อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง
ข้อที่ว่า “เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส” นั้น หมายถึง ไม่ใช้สอยที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้สอยมีภาชนะเป็นต้น โดยทำนองที่ฆราวาสเขาใช้กัน คือเพื่ออยู่อย่างสำรวย เพื่ออยู่อย่างสนุกสนานในทางตามใจตัวเอง หรือเพื่อโอ้อวดกันในทางสวยงามและมีมากเป็นต้น นี้เรียกว่า ไปจากฆราวาสโดยสิ้นเชิง ในด้านการใช้สอยเครื่องใช้สอย


ข้อที่ว่า “ละขาดจากกิริยาวาจาอย่างฆราวาส” นั้น หมายถึง ฆราวาสย่อมมีกิริยาวาจาอันเป็นไปตามใจกิเลส ตัณหา ตามความสะดวกสบาย โดยปราศจากการควบคุม เพราะมุ่งแสวงแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินจากการตามใจตัวเองอย่างเดียว ผู้บวชแล้ว จะต้องมีกิริยาวาจาอย่างสมณะ ในบทว่า
     กิริยาวาจาใด ๆ  เป็นของแห่งสมณะ  เราจักประพฤติตนให้เป็นไปด้วยกิริยาวาจา อาการนั้น ๆ”  ผู้บวชแล้วลืมตัวในเรื่องนี้ ย่อมมีกิริยาวาจาที่คล้ายฆราวาสอยู่ทุกอิริยาบถ  เมื่อมีมิตรสหายที่เป็นฆราวาสมาหา ย่อมทำการต้อนรับเหมือนอย่างที่เคยกระทำต่อกันในครั้งเป็นฆราวาส ในบางรายถึงกับกอดคอกันก็มี หรือนั่งเข่าทับก่ายกันก็มี กิริยาทางกายและวาจาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงถือว่าเป็นอาการของสมณะเลย แม้กิริยาวาจาอื่น ๆ ซึ่งเป็นของฆราวาสซึ่งมีอยู่มากมายนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้บวชแล้วจะต้องละขาดด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง
ข้อที่ว่า “เว้นจากความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง” หมายความว่า พวกฆราวาสตามปรกติ มีความรู้สึกคิดนึกไปในทางเหย้าเรือน คิดนึกไปในทางกามคุณ ชอบปล่อยจิตให้ไหลไปในความคิดนึกทางกามารมณ์อยู่เป็นประจำ เมื่อความรู้สึกคิดนึกทางกามคุณเกิดขึ้น ย่อมไม่ประสงค์ที่จักหักห้าม แต่กลับจะพอใจ ปล่อยให้จิตใจไหลไปตามแนวนั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้นไปเสียอีก เพราะเป็นความเพลิดเพลิน นี้เรียกว่า ความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส
ผู้บวชแล้วจะต้องละความรู้สึกคิดนึกชนิดนั้นโดยเด็ดขาด ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง คอยควบคุมกระแสแห่งความคิดนึกให้ไหลไปในทางของบรรพชิตโดยส่วนเดียว นี้เรียกว่า ละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง
การละทรัพย์สมบัติ การละวงศ์ญาติ การละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส การละการกินอยู่อย่างฆราวาส การละการใช้สอยอย่างฆราวาส การละกิริยาอาการทางกายวาจาอย่างฆราวาส และการละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส ทั้งหมดรวมกันแล้วได้ในคำสรุปสั้น ๆ ว่า “ไปหมดจากความเป็นฆราวาส” เต็มตามความหมายของพยัญชนะที่ว่า “ป+วช” หรือเป็นภาษาบาลีอย่างเต็มรูปว่า "ปพฺพชฺชา" นั่นเอง นี้คือความหมายของคำว่า “บวช” ในส่วนที่ว่า “ไปหมด” คือไปหมดจากความเป็นผู้ครองเรือนหรือเพศฆราวาสนั่นเอง
ส่วนความหมายของคำว่า “บวช” ที่ว่า “ เว้นหมด” นั้น อธิบายว่าเมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักต้องเว้นสิ่งซึ่งควรเว้น ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างไรนั้นโดยสิ้นเชิง ข้อนี้ ผู้บวชแล้วย่อมจะได้รับการศึกษาธรรมวินัย จนรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งควรเว้นหรือควรละ ทั้งในส่วนวินัยและทั้งในส่วนธรรมะ แล้วตน ก็จะพยายามเว้นสิ่งที่ควรเว้นนั้นโดยสิ้นเชิง โดยอาศัยกำลังใจที่ได้รับมาจากการระลึกถึงอยู่เสมอว่า บวชนี้เราบวชเอง การปฏิญาณในการบวชนี้ ได้ทำในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์ และการบวชที่มีอานิสงส์อันสมบูรณ์นั้น เป็นความหวังอย่างยิ่งของมารดาบิดา และเราผู้มีความเป็นมนุษย์อันถูกต้องนั้น 
จักต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าขึ้นไปสู่ความสูง หรือยอดสุดของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอไป จึงจะสมกัน เมื่อระลึกได้ดังนี้ ก็มีกำลังใจที่จะละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นได้โดยหมดจดสิ้นเชิง ตามระเบียบวินัยอย่างครบถ้วน
นี้คือความหมายของคำว่า “บวช” ในส่วนที่ว่า “เว้นหมด”
เมื่อรวมความหมายของคำว่า “ไปหมด” และคำว่า “เว้นหมด” เข้าด้วยกัน ก็เป็นความหมายที่แสดงอยู่ในตัวเองอย่างครบถ้วนแล้วว่า ตัวลักษณะแห่งการบวชที่จริงนั้นคืออะไร ?






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำว่า "อนุโมทามิ" คำนี้ต่างกับคำว่า "อนุโมทนา" อย่างไร

ธรรมจักร

ประวัติพระพุทธเมตตา