ศาสนพิธี

ศาสนพิธี  


ศาสนพิธี  คือ  พิธีกรรมที่มีขึ้นเพื่อเป็นแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อทางพุทธศาสนา  การประพฤติปฏิบัติศาสนพิธี  ต้องทำอย่างถูกต้องเป็นระเบียบ  เกิดความสบายใจ  ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดีเป็นแบบอย่างที่ดีได้

   ๑.  ประเภทของศาสนพิธี
   ศาสนพิธีในทางพุทธศาสนาแบ่งได้หลายประเภท  ตามความต้องการของผู้ที่จะศึกษาว่า จะศึกษาในแนวใด เช่น แบ่งเป็นงานมงคลกับงานอวมงคลหรืองานศาสนพิธีสำหรับพระสงฆ์กับงานศาสนพิธีของประชาชน

      ๑.๑  ศาสนพิธีในงานมงคลกับงานอวมงคล  มีวิธีการดังนี้
         ๑.๑.๑  ศาสนพิธีในงานมงคล  คือ  การทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคล เพื่อให้เกิด  ความสุข ความเจริญ  เช่น ทำบุญวันเกิด ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน อุปสมบท  ฉลองกิจกรรมต่าง ๆ  เป็นต้น

         ๑.๑.๒  ศาสนพิธีในงานอวมงคล  คือ  การทำบุญที่เกี่ยวกับการตาย  หรือทำในสิ่งที่คิดว่าร้ายให้กลายเป็นดี  เช่น  ทำบุญหน้าศพ ๗ วัน  ๕๐  วัน  ๑๐๐  วัน ทำบุญอัฐิ ทำบุญอสุนิบาต  (ฟ้าผ่า)  สัตว์ไม่เป็นมงคลขึ้นบ้าน  เป็นต้น

   ศาสนพิธีทั้ง  ๒  อย่างนี้  ตามประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนา  มีวิธีการที่จะต้องจัดเตรียมการหลายอย่าง  ดังนี้
      (๑)  การนิมนต์พระ งานมงคลจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  ๕ รูป ๗ รูป  ๙  รูป  นอกจากงานมงคลสมรสจะนิมนต์พระมาเป็นคู่  ส่วนงานอวมงคล  จะนิมนต์   พระสงฆ์มาโดยใช้คำว่า  ขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์  นิยมใช้พระ ๔ รูป  ๘  รูป  ๑๐  รูป  เป็นต้น

      (๒)  การจัดสถานที่  ควรดูแลบริเวณที่มีงานให้สะอาดเรียบร้อย  สำหรับที่พระสงฆ์ควรปูลาดอาสนะให้สูงกว่าผู้เข้าร่วมพิธี  โดยการยกให้สูงขึ้น  ปูเสื่อปูผ้าก็ได้

      (๓)  การตั้งโต๊ะหมู่บูชา นิยมให้พระพุทธรูปตั้งอยู่ด้านขวาของพระสงฆ์หันพระพักตร์ออกทางเดียวกับพระสงฆ์

      (๔)  การจัดเครื่องสักการะบูชา มีการเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนโต๊ะหมู่บูชาให้เหมะสมสวยงามถูกต้องตามพิธีการ

      (๕)  เตรียมภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ จะใช้บาตรหรือหม้อน้ำมนต์หรือขันน้ำ พานรองก็ได้  แต่ไม่ควรใช้ขันเงินหรือขันทองเพราะไม่ควรแก่การจับต้องของพระสงฆ์  ใส่น้ำสะอาดไว้พอเหมาะ  มีเทียนขี้ผึ้งวางไว้บนฝาภาชนะและมีเครื่องปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งนิยมใช้หญ้าคามามัดเป็นกำหรือจะใช้อย่างอื่นแทนก็ได้แล้วแต่เหมาะสม

      (๖)  การโยงด้วยสายสิญจน์  ให้โยงจากซ้ายไปขวาของสถานที่หรือวัตถุ เช่น  รอบบ้าน  รอบรั้วแล้วโยงมาที่ฐานพระพุทธรูปบนโต๊ะบูชาต่อมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์แล้ววางไว้บนพาน

      (๗)  การต้อนรับพระสงฆ์  เมื่อพระสงฆ์มาถึงก็นิมนต์ให้พักในที่ที่เหมาะสม เตรียมเครื่องรับรอง  เช่น  น้ำเย็น  น้ำร้อน  น้ำชา  ตามโอกาส

      (๘)  การดำเนินการ  เมื่อพร้อมแล้ว  เจ้าภาพก็จุดเทียน  จุดธูปที่โต๊ะบูชา  แล้วเริ่มอาราธนาศีล  รับศีล  อาราธนาพระปริตร  พระสงฆ์สวดมนต์  จนกระทั่งทำน้ำมนต์

      (๙)  การถวายภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารแก่ พระสงฆ์  เสร็จแล้วถวายไทยธรรม  พระสงฆ์อนุโมทนา  ผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำ  อุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ  พระสงฆ์ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์  เป็นอันเสร็จพิธี


      ๑.๒  ศาสนพิธีสำหรับพระสงฆ์กับพุทธศาสนิกชน  มีรายละเอียดดังนี้
         ๑.๒.๑  ศาสนพิธีสำหรับพระสงฆ์  หมายถึง  พิธีกรรมที่พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม   พระธรรมวินัย  เช่น  พิธีอุปสมบท  พิธีกฐิน  พิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนา  การทำสังฆกรรมต่าง ๆ

         ๑.๒.๒  ศาสนพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน  เป็นระเบียบแบบแผนที่ผู้นับถือศาสนาพุทธ  จะต้องปฏิบัติตาม  ได้มีการจัดหมวดหมู่ไว้ดังนี้

            (๑)  กุศลพิธี  คือ  พิธีที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  การรักษาอุโบสถศีล  การเวียนเทียน  การสวดมนต์ไหว้พระ

            (๒)  บุญพิธี  คือ  การทำบุญตามประเพณีนิยมทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ได้แก่  การทำบุญเลี้ยงพระในงานวันเกิด  งานมงคลสมรส  การทำบุญในงานศพ

            (๓)  ทานพิธี คือ การถวายทานแด่พระสงฆ์โดยทั่ว ๆ ไป ได้แก่การ ถวายสังฆทาน  การถวายสลากภัต  ถวายผ้าป่า

            (๔)  ปกิณกพิธี  คือ  พิธีทั่ว ๆ  ไปที่รวมไปถึงรัฐพิธีด้วย  เช่น  การแสดงความเคารพพระสงฆ์  วันเฉลิมพระชนมพรรษา  วันปิยมหาราช  วันฉัตรมงคล  เป็นต้น

  ๒  ประโยชน์ของศาสนพิธี
      ๒.๑  เป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีให้มีสืบไป
      ๒.๒  เป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
      ๒.๓  ทำให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะที่ร่วมทำพิธีกัน
      ๒.๔  เป็นสิ่งชักนำให้พุทธศาสนิกชน  เว้นจากการทำชั่ว  ทำความดีมีจิตใจผ่องใส
      ๒.๕  แสดงถึงความร่วมมือ  ความเจริญทางจิตใจของคนในสังคม
      ๒.๖  เกิดความสุขใจ  อิ่มเอมใจและเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ

   ๓  คุณลักษณะของการประกอบศาสนพิธี
      ๓.๑  มีวัตถุประสงค์ที่ทำให้เกิดความสงบสุข  เกิดความเรียบร้อย ในสังคมผู้ปฏิบัติเกิดความสุข เกิดกุศล
      ๓.๒  มีเป้าหมาย  เพื่อให้เกิดความสามัคคีในสังคม  เกิดความร่วมมือร่วมใจในการที่จะให้พุทธศาสนาคงอยู่และสืบทอดต่อไป
      ๓.๓  มีกระบวนการที่เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือยยุ่งยากทุกคนยอมรับที่จะปฏิบัติได้




       ๔.  เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยในการประกอบศาสนพิธี
   เครื่องบูชาพระรัตนตรัย  ในการประกอบศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา  มี  ๓  อย่างคือ

            ๔.๑  ธูป สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า นิยมจุดบูชาครั้งละ ๓ ดอก โดยมีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ๓ ประการคือ  มีพระปัญญาธิคุณ  พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ  ธูปสามดอกจึงบูชาแทนพระคุณทั้งหมด  ลักษณะของธูปต้องมีกลิ่นหอม แต่เป็นกลิ่นหอมที่ทำให้กิเลสยุบตัวลง  จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน  ธูปหมดแล้วก็ยังมีกลิ่นอบอวล  เปรียบเหมือนกับ พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่ยังอยู่ในจิตใจของบุคคลมาถึงทุกวันนี้

           ๔.๒  เทียนสำหรับบูชาพระธรรม จะนิยมใช้จุดครั้งละ ๒ เล่ม โดยมีความหมายว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี  ๒  ประเภท  คือ  พระวินัย  สำหรับฝึกหัดกาย  วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและพระธรรมสำหรับอบรมจิตใจ  ให้สงบระงับความชั่วทุจริตทุกประการ เทียน  ๒  เล่มจะบูชาพระวินัย  ๑  เล่มและพระธรรม ๑ เล่ม  เทียนที่บูชาควรมีลักษณะเล่มใหญ่เหมาะกับพิธีการเพราะแสงสว่างจากเทียนเป็นเสมือนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์  ที่ให้ปราศจากความ

           ๔.๓  ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์  มีความหมายว่า  ดอกไม้นานาที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็จะสวยงามตามสภาพนั้น ๆ เมื่อนำมาจัดสรรตบแต่ง  ก็จะมีระเบียบสวยงามขึ้นเปรียบได้กับ    พระสงฆ์เมื่อยังเป็นคฤหัสถ์  ก็มีกริยามารยาทตามฐานะตามตระกูล  แต่เมื่อมาบวชในพุทธศาสนาแล้ว  พระพุทธองค์ได้ทรงวางพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผนให้ประพฤติปฏิบัติ  พระสงฆ์ทุกรูปจึงต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในรูปแบบเดียวกันจนเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย  น่าเคารพ  น่าบูชา  เช่นเดียวกับดอกไม้ที่จัดสรรแล้วฉันนั้น ดอกไม้ที่ใช้บูชาพระสงฆ์  นิยมใช้ดอกไม้ที่มีลักษณะสีสวยมีกลิ่นหอมและกำลังสดชื่น


Cr. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครสวรรค์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำว่า "อนุโมทามิ" คำนี้ต่างกับคำว่า "อนุโมทนา" อย่างไร

ธรรมจักร

ประวัติพระพุทธเมตตา