แสงสว่างแห่งธรรม


“แสงสว่างแห่งธรรม”

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

พระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าเป็นปัญญา เป็นแสงสว่างนำทางให้ผู้ปฏิบัติได้อยู่ห่างไกล จากความทุกข์ทั้งหลาย การที่พวกเรายังตกอยู่ในความทุกข์ต่าง ๆ ก็เพราะว่า เราขาดแสงสว่างแห่งธรรม ขาดปัญญาที่จะทำให้เราเห็นว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นความสุข เหมือนกับเวลาที่เราอยู่ในที่มืดไม่มีไฟ เราจะไม่รู้ว่าข้างหน้าเรา ข้างหลังเรามีอะไรบ้าง มีคุณหรือมีโทษกับเรา เราจะไม่รู้เวลาที่เราอยู่ในที่มืด เราจึงต้องมีแสงสว่าง เช่นไฟฉาย ถ้าเราจะเดินไปไหนมาไหน เราต้องฉายไฟดูก่อนว่า ทางข้างหน้าที่เราจะเดินไปนั้นมีอะไรที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของเราหรือไม่ ถ้าเราไม่มีแสงไฟ เราจะไม่กล้าเดินไปไหน แต่ใจของพวกเราที่ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมกลับไม่กลัวกัน กล้าที่จะไปทำอะไรต่าง ๆ โดยไม่มีแสงสว่างนำทาง พอทำไปแล้วก็เกิดความเสียหาย เกิดความทุกข์ใจตามมา แต่เราก็ไม่มีทางเลือก เพราะเราไม่มีแสงสว่างและเรายังต้องการที่จะหาความสุขอยู่ เราจึงยอมเสี่ยงในการหาความสุข ยอมเสี่ยงกับภัยต่าง ๆ แล้วเราก็มักจะได้รับภัยต่าง ๆคือได้รับความทุกข์กันอย่างถั่วหน้า
ไม่มีใครในสถานที่นี้ที่จะบอกว่า ไม่มีความทุกข์เลย นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไปไหนมาไหนในที่มืดไม่มีแสงสว่าง แล้วเราก็ไปเจอกับปัญหาไปเจอกับความทุกข์ต่าง ๆ ถ้าเราได้มาพบกับพระพุทธศาสนาได้พบกับ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะได้เรียนรู้ว่ามีอะไรที่เป็นภัยเป็นอันตรายกับเรา มีอะไรที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์กับเราก็เหมือนกับมีแสงสว่างที่ทำให้เราเห็นว่าทางที่เราเดินไปนี้มีอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ มีอะไรที่เป็นโทษเป็นภัยกับเรา พอเรารู้แล้วเราก็จะได้หลีกเลี่ยงภัยต่าง ๆ เราก็จะเดินเข้าหาสิ่งที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์กับเรา ธรรมะสอนให้เรารู้ว่าอะไรเป็นภัยกับเรา รู้ว่าอะไรเป็นคุณเป็นประโยชน์กับเรา ให้เราถอนออกจากสิ่งที่เป็นภัยกับเรา แล้วให้เราเข้าหาสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับเรา
สิ่งที่เป็นภัยกับเราที่ให้ความทุกข์กับเรา ก็สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกใจของเรานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ว่าจะเป็นของนอกกาย เช่นลาภยศ สรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ของต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยต่อใจ เป็นเหมือนกับถ่ายไฟแดง ถ้าเราเอามือไปจับมัน มันก็จะไหม้มือเรา เพราะมันเป็นของร้อน แต่พวกเราไม่มีใครบอก พวกเราจึงเดินเข้าหาของร้อนของที่เป็นภัยต่อใจของเรา แล้วเราก็ต้องมาทุกข์กับสิ่งที่เราเดินเข้าหาสิ่งที่เราแสวงหา สิ่งที่เราอยากได้ เช่น ลาภยศ สรรเสริญ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ เราเดินเข้าหาสิ่งเหล่านี้กันแล้วเราก็ต้องมาร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจวุ่นวายไปกับสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เขาไม่แน่นอน เขามาแล้วเขาก็ไปได้ เวลาเขามา เราก็ดีอกดีใจ เวลาได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญ ได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เราก็ ดีอก ดีใจ แต่เราไม่รู้ว่าเขามาแล้วเดี๋ยวเขาก็ไปได้จากเราไปได้ หรือเราต้องจากเขาไป เวลาที่เขาจากเราไปหรือเวลาที่เราจากเขาไป เวลานั้นก็เป็นเวลาที่ทำให้เรา มีความทุกข์ใจกัน นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราถอนออกอย่าเข้าหา ให้ถอยเพราะว่าเป็นเหมือนไฟ ที่จะเผาหัวใจของเราให้ทุกข์ทรมานนั่นเอง ให้เราถอนออกจากการหาลาภยศ สรรเสริญ การหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายแล้วก็ให้เราเข้ามาข้างในใจ ให้มาหาความสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ในใจของเรา ให้เราไม่ต้องไปพึ่งสิ่งต่าง ๆ ให้มาให้ความสุขกับเรา
ใจของเรานี้สามารถที่จะมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีลาภ ยศ สรรเสริญ  ไม่ต้องมีรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ ไม่ต้องมีร่างกายไว้เป็นเครื่องมือหาสิ่งต่าง ๆ มาให้กับใจ เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ และเครื่องมือคือร่างกายก็เป็นสิ่งที่ไม่ถาวรไม่แน่นอน บางเวลาก็ดีก็หาสิ่งต่าง ๆ ตามที่อยากได้ บางเวลาก็ไม่ดี เช่นร่างกาย บางเวลาก็เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะไม่สามารถทำหน้าที่หาสิ่งต่าง ๆ มาให้ความสุขกับใจได้ เวลาที่ไม่สามารถหาความสุขให้กับใจได้ เวลานั้นก็เป็นเวลาที่ทำให้ใจมีแต่ความทุกข์ นี่ก็เป็นเพราะว่าเรา ไม่ได้ศึกษาไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราละการหา ความสุขต่าง ๆ ภายนอกของใจ ให้หาความสุขที่มีอยู่ภายในใจคือความสงบของใจ
ใจจะสงบได้ก็ต้องยุติการหาความสุขภายนอกใจ ถ้ายังหาความสุขภายนอกใจอยู่ ใจจะไม่มีวันสงบได้ เพราะใจต้องทำงานต้องคอยหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา หามาได้แล้วเดี๋ยวเขาก็หมดไป ก็ต้องหามาเพิ่มหามาเติมอยู่เรื่อย ๆ เวลาหามาได้ก็ดีอกดีใจ มีความสุขใจ เวลาหาไม่ได้ก็เสียอกเสียใจ ทุกข์ใจ นี่คือความทุกข์ที่พวกเราเดินเข้าหากัน อย่างไม่รู้สึกตัว เพราะถูกความหลงหลอกให้คิดว่าเป็นความสุขนั่นเอง เวลาเกิดความทุกข์ก็ไม่ได้ไปโทษ สิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรา มีแต่พยายามที่จะหามาใหม่ ถ้าได้อะไรมาแล้ว เวลาสูญเสียไปก็เสียอกเสียใจ แต่ไม่โทษว่า สิ่งที่เราได้มานั้นเป็นเหตุที่ทำให้เราเสียอกเสียใจ กลับไปหามาใหม่อีก พอเสียสิ่งนี้ไปก็ไปหาสิ่งอื่น มาทดแทน พอหามาได้ก็เหมือนเดิมอีก หามาแล้วเดี๋ยวเขาก็เสียไปอีก จากเราไปอีก ก็ต้องหาใหม่อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นลาภยศ สรรเสริญ เป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะในรูปแบบต่าง ๆ เช่นบุคคล ข้าวของต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหมือนกัน เราหามาแล้วพอมันหมดไป เราก็ต้องหามาใหม่ หามาได้มาก หามาได้น้อยก็ไม่เคยเกิดคำว่าพอ มีแต่อยากจะได้อยู่เรื่อย ๆ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะได้มาอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันหมดวันสิ้นสุด เพราะว่าร่างกายของเราที่เป็นเครื่องมือที่จะหาสิ่งต่าง ๆ มา มันจะไม่สามารถหามาได้เรื่อย ๆไปตลอด ร่างกายก็จะต้องแก่ลงไปตามลำดับ จะต้องเกิดการเจ็บ ไข้ได้ป่วยตามลำดับและก็จะต้องตายไปในที่สุด
เวลาที่ไม่สามารถใช้ร่างกายหาสิ่งต่าง ๆที่อยากจะได้ก็จะเกิดความทุกข์ใจ ส่วนสิ่งที่เราได้มาก็มีอันเป็นไป ได้มาแล้วก็หมดไป ได้มาใช้ไปก็หมดไป พอหมดไปก็ต้องไปหามาใหม่ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จะไม่มีวันถึงจุดอิ่มจุดพอได้ เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะให้ความอิ่มความพอแก่ใจของเราได้นั่นเอง มีแต่จะเพิ่มความหิวความอยากความต้องการให้มีไปเรื่อย ๆ ให้มีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหมด นี่แหละคือโทษ หรือภัยของใจก็คือการหาความสุขภายนอกใจนั่นเอง เราจึงต้องยุติการหาความสุขเหล่านี้ แล้วเขาหาความสุข ที่มีอยู่ภายในใจของเรา เราต้องดึงใจของเราให้กลับเข้ามาข้างในให้ได้ ถ้าเราดึงกลับเข้ามาได้ เราเข้ามาข้างในใจได้ เราก็จะได้พบกับความสุขที่มีจุดอิ่มตัว จะมีความสุขที่มีคำว่าพอ จะไม่ได้อยากอะไร อีกต่อไป ถ้าได้ความสุขภายในใจนี้แล้วจะไม่ต้องการอะไรอีกต่อไป แล้วความสุขที่ได้อยู่ภายในใจนี้ ก็จะอยู่ติดไปกับใจไปตลอด ใจก็เป็นสิ่งที่ไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันสิ้นไม่มีวันสูญ ใจก็จะอยู่ไปตลอด ความสุขที่อยู่กับใจก็จะอยู่คู่กับใจไปตลอด อันนี้แหละคือคุณประโยชน์ของใจอยู่ภายในใจ ส่วนของภายนอกใจนี้ล้วนเป็นโทษกับใจทั้งหมด
พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้พวกเรา ปล่อยวาง หรือตัดความผูกพันตัดความชอบความอยากได้สิ่งต่าง ๆ ภายนอกใจไปให้หมด ให้ตัดการหาลาภยศ สรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ให้ตัดการหาร่างกายเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการหาความสุขชนิดต่าง ๆ เพราะความสุขที่ได้นี้ มันมีความทุกข์แถมมาด้วยและเป็นความทุกข์ที่มากกว่าความสุขที่เราได้มา คือได้ไม่คุ้มเสียนั่นเอง ความสุขที่ได้นี้เพียงเล็กน้อย แต่ความทุกข์ที่ได้ตามมานี้มันสาหัสสากรรจ์ หลายร้อยหลายพันเท่า ของความสุขที่เราได้รับกัน เราจึงต้องเสียสละจาคะเเบ่งปันของต่าง ๆ แบ่งปันลาภยศ สรรเสริญ แบ่งปันรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อย่าไปใช้สิ่งเหล่านี้ให้ความสุขกับเรา ถ้าจะมีก็มีไว้เพียงแต่ดูแลรักษาร่างกาย ให้อยู่ไปอย่างปกติสุข คือไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ตายไปก่อนวัยอันควร เพื่อที่จะได้ใช้ร่างกายนี้มาพาใจ ให้เข้าสู่ความสุขภายในใจ อย่างที่นักบวชทั้งหลายได้ทำกัน.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗
“แสงสว่างแห่งธรรม”
Cr. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คำว่า "อนุโมทามิ" คำนี้ต่างกับคำว่า "อนุโมทนา" อย่างไร

ธรรมจักร

ประวัติพระพุทธเมตตา